วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ปัดรัฐถังแตก รีดภาษี‘ขี้เมา’ อ้างลดบริโภค (ไทยโพสต์)

 ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

            "อธิบดี สรรพสามิต" รีบแจงขึ้นภาษี "เหล้า-บุหรี่" ไม่ใช่เหตุถังแตก แต่เพื่อสะท้อนภาพเศรษฐกิจและลดผู้บริโภค ฟุ้งศึกษาเพิ่ม "ภาษีไวน์-เบียร์" อยู่ พร้อมชงปรับสรรพสามิตรถยนต์ทั้งระบบสัปดาห์หน้า หลายองค์กรยกมือเชียร์ "สสส." คาดลดขี้ยา 6-7 หมื่นคน! ส่วน "น้ำเมา" คาดไร้ผล เหตุคนมีรายได้เพิ่มจากนโยบายขึ้นเงินเดือน
            นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้ชี้แจงรายละเอียดของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการขึ้นภาษีสุราและยาสูบว่า ภาษี บุหรี่นั้นจะปรับเพิ่มค่าแสตมป์ ยาเส้น ยาสูบ และค่าธรรมเนียม รวมถึงใบอนุญาตประเภทต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ราคาขายปลีกยาสูบปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3-14 บาทต่อซอง ส่วนภาษีสุรานั้น จะส่งผลให้ราคาขายปลีกสุราขาวเพิ่มขึ้น 5-7 บาทต่อขวด, สุราผสมเพิ่มขึ้น 8-12 บาทต่อขวด และบรั่นดีเพิ่มขึ้น 3-12 บาทต่อขวด


            นางเบญจาระบุว่า การขึ้นภาษีสุราและยาสูบนั้นเพื่อทำให้ราคาสินค้าสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ปัจจุบัน และเพื่อสนับสนุนมาตรการควบคุมการบริโภคสุราและยาสูบของประชาชนให้เข้าถึง สิ่งเหล่านั้นได้ยากขึ้น โดยการขึ้นภาษีจะทำให้กรมจัดเก็บรายได้เพิ่ม ขึ้นปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากภาษียาสูบ 1 หมื่นล้านบาท และภาษีสุรา 3 พันล้านบาท
            “ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลขึ้นภาษีเพื่อไปชดเชยเงินที่นำไปใช้ในโครงการประชานิยมนั้น ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่เพราะอัตราภาษีสุราและยาสูบไม่ได้มีการปรับขึ้นมานานแล้ว และขึ้นครั้งนี้ก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจเท่านั้น” นางเบญจากล่าว

            อธิบดีกรมสรรพสามิตยังเผยว่า กรมอยู่ระหว่างกำลังศึกษาความเป็นไปได้ว่าจะสามารถขยายเพดานการจัดเก็บภาษี สรรพสามิตเบียร์และไวน์ได้หรือไม่ จากปัจจุบันที่เต็มเพดานแล้ว ซึ่งหากต้องดำเนินการก็จำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มเพดาน ซึ่งเรื่องนี้คงต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลระยะหนึ่ง และต้องใช้เวลาในการออกกฎหมาย เพราะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรด้วย แต่ในสัปดาห์หน้ากรมจะเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษีสรรพ สามิตรถยนต์ให้กระทรวงการคลังพิจารณา โดยเบื้องต้นจะเป็นการจัดกลุ่มรถยนต์ให้เหมาะสมมากขึ้น โดยคำนึงจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก แต่จะไม่มีการแยกประเภทภาษีให้รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทอี 10 และอี 20 อีก เพราะที่ผ่านมามีปัญหาค่อนข้างมาก

            ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในรายการฟ้าวันใหม่ สนับสนุนการขึ้นภาษีเช่นกัน แต่ได้แนะนำให้รัฐบาลติดตามเรื่องการลักลอบสินค้าหนีภาษี รวมถึงการเตรียมมาตรการรองรับในอนาคตเกี่ยวกับการเปิดเสรีการค้าด้วย

            “ส่วนที่ว่าทำเพราะปัญหารายได้อะไรนั้นคงต้องไปวิเคราะห์กันอีกที ดูว่าการบริหารการเงินการคลังของรัฐบาลเป็นอย่างไร แต่ผมคิดว่าตัวนี้ไม่กังวลถ้าทำวิธีนี้ ผมกลับกังวลว่าถ้าหากว่าไปไล่เก็บภาษีสรรพากรจากผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อยอะไรต่างๆ เวลาที่รายได้ไม่เข้าเป้ามากกว่า” นายอภิสิทธิ์แสดงความเห็น

            วันเดียวกัน หลายองค์กรก็ออกมาขานรับการขึ้นภาษีดังกล่าว ไล่ตั้งแต่ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ระบุว่า ขอชื่นชมรัฐบาลที่ตัดสินใจขึ้นภาษีเหล้าและบุหรี่เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี เพราะเป็นแนวทางสากลที่ใช้กัน โดยเชื่อว่าจะทำให้ลดผู้สูบบุหรี่ได้ถึง 6-7 หมื่นคน ส่วนสุรานั้นคงยังไม่เห็นผลชัดเจนในการลดอัตราการบริโภคเท่าใดนัก

            นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า เป็น เรื่องที่ดี เพราะจะทำให้คนเข้าถึงบุหรี่ยากขึ้น ทำให้คนสูบบุหรี่ลดน้อยลง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีเด็กติดบุหรี่หน้าใหม่เพิ่มขึ้น 500,000 คน ถือเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง ทั้งนี้ การขึ้นภาษีบุหรี่ตามหลักการในต่างประเทศ จะมีการขึ้นภาษีทุกปี ตามค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ไทยกลับไม่มีการขึ้นภาษีมา 3 ปีแล้ว และการขึ้นบุหรี่ซองเพียง 6-8 บาทนั้นก็ถือว่ายังไม่มาก โดยเฉพาะยาเส้นนั้นถือว่าปรับน้อยมาก หากรัฐบาลต้องการมุ่งเพื่อลดการบริโภคของนักสูบ ควรขยับราคาให้ใกล้เคียงกัน เพื่อป้องกันให้ผู้สูบบุหรี่ซองหันไปสูบยาเส้นแทน

            ดร.ศิริวรรณ พิทย รังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า การขึ้นภาษีครั้งนี้เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับฝ่ายวิชาการด้านยาสูบและแนวทาง ขององค์การอนามัยโลกที่เคยนำเสนอก่อนหน้านี้ ถือเป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้ว แต่หากเป็นไปได้อยากให้รัฐบาลปรับขึ้นภาษีบุหรี่และยาสูบตามอัตราค่าเงิน เฟ้อในทุกปี เพื่อเพิ่มช่องว่างการเข้าถึง

            “ขอ เสนอให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการหิ้วบุหรี่เข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อเป็นการปิดกั้นช่องทางการไหลเข้ามาของบุหรี่ราคาถูก ซึ่งรัฐบาลสามารถทำได้ เพราะในกลุ่มประเทศอาเซียนก็มีหลายประเทศที่มีมาตรการดังกล่าว” ดร.ศิริวรรณกล่าว

            ส่วน นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) มองว่า เป็นแนวทางที่ดีและชื่นชม แต่เมื่อดูอัตราการจัดเก็บเพิ่มเห็นว่าเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นไม่มาก จึงมีผลน้อยมาก และเชื่อว่าจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการลดปริมาณการดื่มมากนัก โดยเฉพาะช่วงแรกเชื่อว่าผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คงยินดีแบกรับภาระ ภาษีตรงนี้ไว้ ยังไม่ผลักภาระให้กับผู้ดื่ม เพราะเป็นจำนวนที่ไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนรายได้ที่ได้รับ ประกอบ กับที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนทั้งการเพิ่มค่าแรง 300 บาท และการปรับเพิ่มเงินเดือน 15,000 บาท ดังนั้นภาษีสุราที่เพิ่มขึ้นจึงไม่มีผล

            นพ.ทักษ พลระบุอีกว่า หากต้องการได้ผลการลดจำนวนผู้ดื่มระยะยาว ควรรื้อโครงสร้างการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น นักดื่มหน้าใหม่ ได้แก่เบียร์และวิสกี้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น